ซ้าย: ไฟล์ภาพ ขวา: ภาพพิมพ์แบบไร้ขอบ |
ตัวอย่างการอัดภาพแบบเต็มใบ
ยกตัวอย่างการอัดภาพตามร้านอัดรูปที่มีเครื่องมินิแลบ (minilab) ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาและปกติที่อัดรูปออกมาแล้วจะได้เต็มใบ 4x6 นิ้ว แต่ในเบื้องหลังเราต้องเข้าใจก่อนว่าภาพเราเห็นบนกระดาษนั้นมาได้อย่างไร แล้วจะรู้ว่าสิ่งที่เราต้องการจริงๆนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้.รูปที่ได้จากการร้านอัดรูปแบบมินิแลบ เกิดจากการฉายภาพลงบนกระดาษไวแสงซึ่งมีเม็ดสีอยู่ในเนื้อกระดาษ กระดาษที่ใช้กับมินิแลบเป็นแบบม้วนและมีหน้ากว้างเฉพาะเช่นหน้ากว้าง 6 นิ้ว, 8 นิ้ว ฯลฯ กระดาษจะถูกฟีด (feed) ออกมาตามความยาวที่ต้องการเช่น ถ้าใช้กระดาษหน้ากว้าง 6 นิ้วและต้องการพิมพ์ภาพ 6x4 นิ้ว เครื่องก็จะฟีดกระดาษออกมา 4 นิ้วแล้วตัด. กระดาษที่ถูกตัดตามขนาดแล้วจะถูกลำเลียงด้วยสายพานไปที่ตู้ฉายแสง และแสงที่เป็นภาพจะฉายลงกระดาษนั้น. หลังจากนั้นจะผ่านน้ำยาต่างๆเพื่อสร้างให้เป็นภาพที่ต้องการ.
ประเด็นอยู่ที่การจะให้ภาพเต็ม มันเป็นไปได้ยากที่เครื่องจะฉายภาพแสงให้ได้ขนาดพอดีเป๊ะกับกระดาษที่ตัดออกมา. ความไม่แน่นอนเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
- กลไกการฟีดกระดาษมีความคลาดเคลื่อนได้, อาจจะฟีดกระดาษไม่ได้ขนาดเดียวกันทุกครั้งไป
- ความโค้งของกระดาษในม้วน (กระดาษปลายม้วนจะโค้งกว่ากระดาษต้นม้วน)
- สายพานลำเลียงกระดาษอาจจะลำเลียงกระดาษไม่ตรงตำแหน่งที่ควรทุกครั้งที่ทำงาน
- ตำแหน่งแสงที่ฉายอาจจะมีความไม่เที่ยงตรงทุกครั้ง
ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำให้รูปที่ออกมาเต็มกระดาษคือ ขยายรูปเล็กน้อยแล้วฉายภาพให้เกินพื้นที่กระดาษเล็กน้อย ในปริมาณที่เหมาะสมคือ
- ไม่ทำให้ขนาดรูปขยายมากเกินไปจนผิดสังเกต
- ไม่ว่าจะมีความคลาดเคลื่อนเกิดจากปัจจัยใดๆ พื้นที่กระดาษยังคงอยู่ในพื้นที่ที่แสงฉายอยู่
ตัวอย่างการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท
การพิมพ์ไร้ขอบของเครื่องอิงค์เจ็ทก็เช่นกัน มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เช่น ความแม่นยำของระบบการป้อนกระดาษ ฯลฯอย่างไรก็ตาม เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทใหม่ๆ มีความสามารถพิมพ์ไร้ขอบ โดยเลือกตัวเลือก borderless ตอนสั่งพิมพ์ได้. การพิมพ์ลักษณะนี้ คล้ายๆกับตัวอย่างการพิมพ์ด้วยเครื่องมินิแลบ คือมีการพิมพ์เกินพื้นที่กระดาษเล็กน้อย (over spray) ทำให้หมึกที่ออกจากหัวพิมพ์ inkjet พ่นได้ถึงขอบกระดาษ และแน่นอนว่าจะมีหมึกที่เกินกระดาษมาตกลงข้างล่าง จึงต้องมีฟองน้ำรองรับหมึกที่เกินออกมานั้นไม่ให้ไปโดนตัวกระดาษสกปรกเลอะเทอะ
การพิมพ์ไร้ขอบของเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท |
- ภาพที่อยู่ตรงขอบภาพจริงๆเมื่อพิมพ์แล้วอาจจะหายไปโดยไม่ตั้งใจ
- งานพิมพ์ที่ต้องมีขนาดที่แน่นอนจะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ เช่นถ้าวางรูปเล็ก 2x2 นิ้วบนไฟล์ภาพ 4x6 นิ้วแล้วนำไปพิมพ์แบบ borderless เมื่อวัดขนาดรูปเล็ก 2x2 นิ้วที่อยู่บนภาพพิมพ์กระดาษ 4x6 นิ้วแล้วจะได้ขนาดใหญ่กว่า 2x2 นิ้วเล็กน้อย
การพิมพ์แบบมีตัดตก
การพิมพ์แบบมีระยะตัดตก (full bleed printing) ไม่เหมือนกับเทคนิคการพิมพ์ที่ผ่านมาตรงที่การพิมพ์แบบนี้จะพิมพ์ก่อนแล้วค่อยตัด. การพิมพ์ไร้ขอบของอิงค์เจ็ต, กระดาษที่จะพิมพ์ถูกตัดตามขนาดที่ต้องการมาก่อนแล้วจึงค่อยนำมาพิมพ์.การพิมพ์แบบ full bleed printing มีลักษณะที่แตกต่างคือ
- ไม่มีการขยายรูปหรือกราฟฟิค แต่ต้องมีการเตรียมอาร์ตเวิร์คส่วนเกิน (bleed) ออกไปจากขนาดที่ต้องการ ส่วนเกินนี้จะถูกตัดทิ้งในขั้นตอนสุดท้าย
- งานพิมพ์จะพิมพ์บนกระดาษที่ใหญ่กว่ากระดาษจริงที่ต้องการ มีสิ่งที่เรียกว่า output size และ finishing size. เช่น ถ้าต้องการงานพิมพ์แบบ full bleed เป็นกระดาษ A4 (210x297mm) ก็จะต้องพิมพ์งานบนกระดาษที่ใหญ่กว่า A4 เช่น A3 ก็จะถือว่าเป็น output size. พิมพ์เสร็จแล้วค่อยตัดให้ได้ขนาด A4 ซึ่งเป็น finishing size ที่ต้องการ.
- มีขั้นตอนการตัดหลังการพิมพ์ ดังนั้นงานพิมพ์ที่ออกมาจะต้องมีการทำตำแหน่งตัดคือ trim mark ประกอบในงานพิมพ์ด้วย. การทำ trim mark อาจจะทำมาโดยคนออกแบบ (designer) ก็ได้แต่ไม่ควรทำ. เพราะคนที่จะใช้ trim mark จริงๆแล้วคือช่างตัด และการใส่มาร์กจะไปเกี่ยวเนื่องกับขนาดกระดาษพิมพ์ (output size) ด้วย.
ดังนั้นการใส่ trim mark ควรจะเป็นหน้าที่ของคนเตรียมพิมพ์ (prepress) จึงจะเหมาะสมกว่า. จึงเป็นเหตุผลที่ว่าคนออกแบบควรจะเตรียมไฟล์ PDF ที่มี trim box, bleed box, crop box ที่ถูกต้อง. ถ้า PDF นั้นเตรียมมาถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ trim mark มาร์กมาเพราะสามารถรู้ได้เองจากไฟล์ PDF.
การพิมพ์แบบ full bleed แล้วตัดตก |