วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พิมพ์อย่างไรให้ไร้ขอบ - borderless printing, full bleed printing

ภาพหรือสิ่งพิมพ์ไร้ขอบ ​(borderless) ที่ผมเขียนอยู่ หมายถึงภาพหรืองานพิมพ์ที่พิมพ์ได้เต็มพื้นที่กระดาษ ตัวอย่างเช่น
ซ้าย: ไฟล์ภาพ
ขวา: ภาพพิมพ์แบบไร้ขอบ

ตัวอย่างการอัดภาพแบบเต็มใบ

ยกตัวอย่างการอัดภาพตามร้านอัดรูปที่มีเครื่องมินิแลบ (minilab) ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาและปกติที่อัดรูปออกมาแล้วจะได้เต็มใบ 4x6 นิ้ว แต่ในเบื้องหลังเราต้องเข้าใจก่อนว่าภาพเราเห็นบนกระดาษนั้นมาได้อย่างไร แล้วจะรู้ว่าสิ่งที่เราต้องการจริงๆนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้.

รูปที่ได้จากการร้านอัดรูปแบบมินิแลบ เกิดจากการฉายภาพลงบนกระดาษไวแสงซึ่งมีเม็ดสีอยู่ในเนื้อกระดาษ  กระดาษที่ใช้กับมินิแลบเป็นแบบม้วนและมีหน้ากว้างเฉพาะเช่นหน้ากว้าง 6 นิ้ว, 8 นิ้ว ฯลฯ กระดาษจะถูกฟีด (feed) ออกมาตามความยาวที่ต้องการเช่น ถ้าใช้กระดาษหน้ากว้าง 6 นิ้วและต้องการพิมพ์ภาพ 6x4 นิ้ว เครื่องก็จะฟีดกระดาษออกมา 4 นิ้วแล้วตัด. กระดาษที่ถูกตัดตามขนาดแล้วจะถูกลำเลียงด้วยสายพานไปที่ตู้ฉายแสง และแสงที่เป็นภาพจะฉายลงกระดาษนั้น. หลังจากนั้นจะผ่านน้ำยาต่างๆเพื่อสร้างให้เป็นภาพที่ต้องการ.

ประเด็นอยู่ที่การจะให้ภาพเต็ม มันเป็นไปได้ยากที่เครื่องจะฉายภาพแสงให้ได้ขนาดพอดีเป๊ะกับกระดาษที่ตัดออกมา. ความไม่แน่นอนเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
  • กลไกการฟีดกระดาษมีความคลาดเคลื่อนได้, อาจจะฟีดกระดาษไม่ได้ขนาดเดียวกันทุกครั้งไป
  • ความโค้งของกระดาษในม้วน (กระดาษปลายม้วนจะโค้งกว่ากระดาษต้นม้วน)
  • สายพานลำเลียงกระดาษอาจจะลำเลียงกระดาษไม่ตรงตำแหน่งที่ควรทุกครั้งที่ทำงาน
  • ตำแหน่งแสงที่ฉายอาจจะมีความไม่เที่ยงตรงทุกครั้ง
ความคลาดเคลื่อนที่ยกตัวอย่างนี้อาจจะเป็นเพียงแค่ 1-2 mm แต่ถ้าภาพฉายลงมาไม่ตรงขนาดพอดี ผลที่ออกมาจะมีขอบกระดาษขาวๆบางส่วนที่สะดุดตาเราขึ้นมาทันที

ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำให้รูปที่ออกมาเต็มกระดาษคือ ขยายรูปเล็กน้อยแล้วฉายภาพให้เกินพื้นที่กระดาษเล็กน้อย ในปริมาณที่เหมาะสมคือ
  1. ไม่ทำให้ขนาดรูปขยายมากเกินไปจนผิดสังเกต
  2. ไม่ว่าจะมีความคลาดเคลื่อนเกิดจากปัจจัยใดๆ พื้นที่กระดาษยังคงอยู่ในพื้นที่ที่แสงฉายอยู่

ตัวอย่างการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท

การพิมพ์ไร้ขอบของเครื่องอิงค์เจ็ทก็เช่นกัน มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เช่น ความแม่นยำของระบบการป้อนกระดาษ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทใหม่ๆ มีความสามารถพิมพ์ไร้ขอบ โดยเลือกตัวเลือก borderless ตอนสั่งพิมพ์ได้.  การพิมพ์ลักษณะนี้ คล้ายๆกับตัวอย่างการพิมพ์ด้วยเครื่องมินิแลบ คือมีการพิมพ์เกินพื้นที่กระดาษเล็กน้อย (over spray) ทำให้หมึกที่ออกจากหัวพิมพ์ inkjet พ่นได้ถึงขอบกระดาษ และแน่นอนว่าจะมีหมึกที่เกินกระดาษมาตกลงข้างล่าง จึงต้องมีฟองน้ำรองรับหมึกที่เกินออกมานั้นไม่ให้ไปโดนตัวกระดาษสกปรกเลอะเทอะ

การพิมพ์ไร้ขอบของเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท
การพิมพ์ไร้ขอบแบบมินิแลบหรืออิงค์เจ็ต จะมีการขยายภาพเล็กน้อยกว่าความเป็นจริงซึ่งมีข้อเสียคือ
  • ภาพที่อยู่ตรงขอบภาพจริงๆเมื่อพิมพ์แล้วอาจจะหายไปโดยไม่ตั้งใจ
  • งานพิมพ์ที่ต้องมีขนาดที่แน่นอนจะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ เช่นถ้าวางรูปเล็ก 2x2 นิ้วบนไฟล์ภาพ 4x6 นิ้วแล้วนำไปพิมพ์แบบ borderless เมื่อวัดขนาดรูปเล็ก 2x2 นิ้วที่อยู่บนภาพพิมพ์กระดาษ 4x6 นิ้วแล้วจะได้ขนาดใหญ่กว่า 2x2 นิ้วเล็กน้อย

การพิมพ์แบบมีตัดตก

การพิมพ์แบบมีระยะตัดตก (full bleed printing) ไม่เหมือนกับเทคนิคการพิมพ์ที่ผ่านมาตรงที่การพิมพ์แบบนี้จะพิมพ์ก่อนแล้วค่อยตัด. การพิมพ์ไร้ขอบของอิงค์เจ็ต, กระดาษที่จะพิมพ์ถูกตัดตามขนาดที่ต้องการมาก่อนแล้วจึงค่อยนำมาพิมพ์.

การพิมพ์แบบ full bleed printing มีลักษณะที่แตกต่างคือ
  • ไม่มีการขยายรูปหรือกราฟฟิค แต่ต้องมีการเตรียมอาร์ตเวิร์คส่วนเกิน (bleed) ออกไปจากขนาดที่ต้องการ ส่วนเกินนี้จะถูกตัดทิ้งในขั้นตอนสุดท้าย
  •  งานพิมพ์จะพิมพ์บนกระดาษที่ใหญ่กว่ากระดาษจริงที่ต้องการ มีสิ่งที่เรียกว่า output size และ finishing size. เช่น ถ้าต้องการงานพิมพ์แบบ full bleed เป็นกระดาษ A4 (210x297mm) ก็จะต้องพิมพ์งานบนกระดาษที่ใหญ่กว่า A4 เช่น A3 ก็จะถือว่าเป็น output size. พิมพ์เสร็จแล้วค่อยตัดให้ได้ขนาด A4 ซึ่งเป็น finishing size ที่ต้องการ.
  • มีขั้นตอนการตัดหลังการพิมพ์ ดังนั้นงานพิมพ์ที่ออกมาจะต้องมีการทำตำแหน่งตัดคือ trim mark ประกอบในงานพิมพ์ด้วย. การทำ trim mark อาจจะทำมาโดยคนออกแบบ (designer) ก็ได้แต่ไม่ควรทำ. เพราะคนที่จะใช้ trim mark จริงๆแล้วคือช่างตัด และการใส่มาร์กจะไปเกี่ยวเนื่องกับขนาดกระดาษพิมพ์ (output size) ด้วย.
    ดังนั้นการใส่ trim mark ควรจะเป็นหน้าที่ของคนเตรียมพิมพ์ (prepress) จึงจะเหมาะสมกว่า. จึงเป็นเหตุผลที่ว่าคนออกแบบควรจะเตรียมไฟล์​ PDF ที่มี trim box, bleed box, crop box ที่ถูกต้อง. ถ้า PDF นั้นเตรียมมาถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ trim mark มาร์กมาเพราะสามารถรู้ได้เองจากไฟล์ PDF. 

การพิมพ์แบบ full bleed แล้วตัดตก

แหล่งอ้างอิง 

วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดู CropBox, BleedBox, TrimBox ใน Adobe Acrobat Pro และ Adobe Reader

สำหรับงานพิมพ์สมัยใหม่ที่ใช้ไฟล์ PDF เป็นไฟล์ต้นฉบับงานพิมพ์ บางครั้งเราต้องตรวจสอบหรือดูให้รู้ว่าไฟล์ PDF นั้นสร้างมาเหมาะกับงานพิมพ์หรือไม่. สิ่งที่อาจจะเลือกตรวจสอบหรือดูเป็นอันดับต้นๆก็คือ ไฟล์ PDF นั้นมีการทำระยะตัดตก (bleed) หรือไม่. ซึ่งถ้ามีการทำระยะตัดตกที่ถูกต้อง, ไฟล์นั้นจะต้องมี trim box และ bleed box.

สมมติว่าเรามีไฟล์ PDF อันหนึ่งแล้วเปิดดูด้วย Adobe Reader (โปรแกรมดู PDF ที่ Adobe แจกฟรี)  หรือ Acrobat Pro อาจจะเห็นกราฟฟิกที่คนออกแบบไว้ตัวอย่างเช่น

ตัวอย่างไฟล์ PDF นามบัตรที่เปิดดูด้วย Adobe Acrobat Pro
จากตัวอย่างเราจะไม่รู้เลยว่าไฟล์นี้คนออกแบบเขามีทำระยะตัดตก (bleed) ไว้หรือไม่.

หากต้องการดูว่ามีมี bleed หรือไม่, ต้องไปตั้งค่าให้ Adobe Acrobat Pro หรือ Adobe Reader แสดง trim box, bleed box ที่ Preference.

หน้าจอ Preferences ของ Adobe Acrobat Pro
ตรงหัวเรื่อง "Page Content and Information" ที่ "Show art, trim, & bleed boxes" ให้คลิกเลือกไว้.  ทีนี้จะเห็นเนื้อหาเป็นแบบตัวอย่าง

Trim box จะแสดงด้วยเส้นสีเขียวใน Acrobat
เส้นสีเขียวจะเป็น Trim box คือเส้นตำแหน่งที่งานเสร็จตัดออกมาแล้วจะควรจะเป็นอย่างไร.  พูดง่ายๆในกรณีตัวอย่างนี้, ถ้าตัดเป็นงานสำเร็จแล้วควรจะขนาดเท่ากับส่วนสีเขียวที่เห็นในหน้าจอ. ส่วนเส้นสีน้ำเงิน (ในรูปจะเห็นไม่ชัดเนื่องจากนามบัตรเป็นสีฟ้า) ที่อยู่ชิดกับขอบงานนั้นคือ Bleed box คือพื้นที่ที่รวมส่วนตัดตกเข้าไปด้วย. 

คำถามที่เกิดขึ้นคือแล้ว Trim box ที่เห็นเป็นเส้นสีเขียวนั้นมีขนาดเท่าไหร่? วิธีง่ายที่สุดคือให้ Acrobat แสดงไม้บรรทัด โดยการกดคีย์ Cmd-r หรือ Ctrl-r (r คือ ruler ไม้บรรทัด) ซึ่งถ้าเป็น Adobe Reader จะไม่สามารถแสดงไม้บรรทัดได้.

แสดง ruler ใน Acrobat (กด Cmd-r)
วิธีที่จะดูขนาดให้แน่นอนเลยคือใช้เครื่องมือ Print Production. คลิกที่ Tools และตรงหัวข้อ Print Production คลิกที่ Set Page Boxes.

เครื่องมือ Print Production ใน Acrobat

เครื่องมือ Set Page Boxes สำหรับตั้งค่าขนาดกล่องต่างๆ
ในหน้าจอ Set Pages Boxes ด้านล่าง Show All Boxes จะมีให้เลือกแสดง Box ต่างๆ และขนาดของ Box จะแสดงบอกไว้ด้านล่างรูป. Box  เหล่านี้ได้แก่
  • CropBox
    คือพื้นที่ (หรือกล่อง) ที่ถูกตัด (crop) ออกมาเป็นส่วนที่เราสนใจ ซึ่งใน Acrobat จะแสดงหรือพิมพ์หน้าที่เห็นจากพื้นที่ CropBox
  • ArtBox
    จาก PDF Reference manual บอกว่า ArtBox คือพื้นที่ส่วนขยาย (extent) ของเนื้อหาที่มีสาระใจความสำคัญ ขึ้นอยู่กับผู้สร้างจะระบุ ซึ่งค่าปริยาย (default value) จะเท่ากับ CropBox
  • TrimBox
    คือพื้นที่หลังจากตัด (trim) แล้ว
  • BleedBox
    พื้นที่ที่รวนตัดตก ใช้สำหรับงานผลิตสิ่งพิมพ์. เวลาสร้าง PDF ตามมาตรฐาน PDF/X จะต้องมีการระบุ MediaBox, TrimBox และ BleedBox เสมอ.
​Box อีกหนึ่งตัวที่เหลือที่ Set Pages Boxes ไม่ได้แสดงคือ MediaBox เป็นพื้นที่ระบุความกว้างและสูงของหน้า ​(page) ในไฟล์ PDF ซึ่งเป็น Box ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด. พูดง่ายๆทั่วๆไปคือขนาดหน้าที่เราเห็นจากหน้าจอนั่นเอง ซึ่งในงานพิมพ์นั้นขนาดที่แสดงในหน้าจอบางครั้ง MediaBox มีขนาดเท่ากับ BleedBox (เช่นในตัวอย่าง). คนที่ทำงานพิมพ์จะสนใจ TrimBox ด้วย จึงมีความจำเป็นจะต้องแยกให้ชัดเจนว่า ไฟล์ PDF ที่ได้มานั้นมี Box ต่างๆอยู่ตรงไหนขนาดเท่าไหร่. MediaBox นี้ดูขนาดได้จาก Properties ของหน้า PDF นั้นๆ.

ขนาดของหน้า Page Size ใน Properties

 สรุปว่าการที่จะดู Box ต่างๆในไฟล์ PDF ต้องไปตั้งค่าใน Preferences ซึ่งจะแสดงกรอบเป็นสีต่างๆให้. ผมเข้าใจว่าที่ Acrobat หรือ Adobe Reader ไม่ตั้งค่านี้มาเลยเพราะเกรงว่าคนทั่วไปดูแล้วจะงงว่าพิมพ์แล้วจะมีเส้นเหล่านี้ติดออกมาด้วยหรือไม่ และจริงๆแล้วคนที่จะใช้หรืออยากดู Box เหล่านี้ก็คงเป็นคนในวงการพิมพ์เท่านั้น. แต่จริงๆแล้วดีไซน์เนอร์ควรจะรู้จุดนี้ไว้ด้วย.

อ้างอิง