วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พิมพ์อย่างไรให้ไร้ขอบ - borderless printing, full bleed printing

ภาพหรือสิ่งพิมพ์ไร้ขอบ ​(borderless) ที่ผมเขียนอยู่ หมายถึงภาพหรืองานพิมพ์ที่พิมพ์ได้เต็มพื้นที่กระดาษ ตัวอย่างเช่น
ซ้าย: ไฟล์ภาพ
ขวา: ภาพพิมพ์แบบไร้ขอบ

ตัวอย่างการอัดภาพแบบเต็มใบ

ยกตัวอย่างการอัดภาพตามร้านอัดรูปที่มีเครื่องมินิแลบ (minilab) ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาและปกติที่อัดรูปออกมาแล้วจะได้เต็มใบ 4x6 นิ้ว แต่ในเบื้องหลังเราต้องเข้าใจก่อนว่าภาพเราเห็นบนกระดาษนั้นมาได้อย่างไร แล้วจะรู้ว่าสิ่งที่เราต้องการจริงๆนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เห็นก็ได้.

รูปที่ได้จากการร้านอัดรูปแบบมินิแลบ เกิดจากการฉายภาพลงบนกระดาษไวแสงซึ่งมีเม็ดสีอยู่ในเนื้อกระดาษ  กระดาษที่ใช้กับมินิแลบเป็นแบบม้วนและมีหน้ากว้างเฉพาะเช่นหน้ากว้าง 6 นิ้ว, 8 นิ้ว ฯลฯ กระดาษจะถูกฟีด (feed) ออกมาตามความยาวที่ต้องการเช่น ถ้าใช้กระดาษหน้ากว้าง 6 นิ้วและต้องการพิมพ์ภาพ 6x4 นิ้ว เครื่องก็จะฟีดกระดาษออกมา 4 นิ้วแล้วตัด. กระดาษที่ถูกตัดตามขนาดแล้วจะถูกลำเลียงด้วยสายพานไปที่ตู้ฉายแสง และแสงที่เป็นภาพจะฉายลงกระดาษนั้น. หลังจากนั้นจะผ่านน้ำยาต่างๆเพื่อสร้างให้เป็นภาพที่ต้องการ.

ประเด็นอยู่ที่การจะให้ภาพเต็ม มันเป็นไปได้ยากที่เครื่องจะฉายภาพแสงให้ได้ขนาดพอดีเป๊ะกับกระดาษที่ตัดออกมา. ความไม่แน่นอนเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น
  • กลไกการฟีดกระดาษมีความคลาดเคลื่อนได้, อาจจะฟีดกระดาษไม่ได้ขนาดเดียวกันทุกครั้งไป
  • ความโค้งของกระดาษในม้วน (กระดาษปลายม้วนจะโค้งกว่ากระดาษต้นม้วน)
  • สายพานลำเลียงกระดาษอาจจะลำเลียงกระดาษไม่ตรงตำแหน่งที่ควรทุกครั้งที่ทำงาน
  • ตำแหน่งแสงที่ฉายอาจจะมีความไม่เที่ยงตรงทุกครั้ง
ความคลาดเคลื่อนที่ยกตัวอย่างนี้อาจจะเป็นเพียงแค่ 1-2 mm แต่ถ้าภาพฉายลงมาไม่ตรงขนาดพอดี ผลที่ออกมาจะมีขอบกระดาษขาวๆบางส่วนที่สะดุดตาเราขึ้นมาทันที

ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำให้รูปที่ออกมาเต็มกระดาษคือ ขยายรูปเล็กน้อยแล้วฉายภาพให้เกินพื้นที่กระดาษเล็กน้อย ในปริมาณที่เหมาะสมคือ
  1. ไม่ทำให้ขนาดรูปขยายมากเกินไปจนผิดสังเกต
  2. ไม่ว่าจะมีความคลาดเคลื่อนเกิดจากปัจจัยใดๆ พื้นที่กระดาษยังคงอยู่ในพื้นที่ที่แสงฉายอยู่

ตัวอย่างการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท

การพิมพ์ไร้ขอบของเครื่องอิงค์เจ็ทก็เช่นกัน มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก เช่น ความแม่นยำของระบบการป้อนกระดาษ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทใหม่ๆ มีความสามารถพิมพ์ไร้ขอบ โดยเลือกตัวเลือก borderless ตอนสั่งพิมพ์ได้.  การพิมพ์ลักษณะนี้ คล้ายๆกับตัวอย่างการพิมพ์ด้วยเครื่องมินิแลบ คือมีการพิมพ์เกินพื้นที่กระดาษเล็กน้อย (over spray) ทำให้หมึกที่ออกจากหัวพิมพ์ inkjet พ่นได้ถึงขอบกระดาษ และแน่นอนว่าจะมีหมึกที่เกินกระดาษมาตกลงข้างล่าง จึงต้องมีฟองน้ำรองรับหมึกที่เกินออกมานั้นไม่ให้ไปโดนตัวกระดาษสกปรกเลอะเทอะ

การพิมพ์ไร้ขอบของเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท
การพิมพ์ไร้ขอบแบบมินิแลบหรืออิงค์เจ็ต จะมีการขยายภาพเล็กน้อยกว่าความเป็นจริงซึ่งมีข้อเสียคือ
  • ภาพที่อยู่ตรงขอบภาพจริงๆเมื่อพิมพ์แล้วอาจจะหายไปโดยไม่ตั้งใจ
  • งานพิมพ์ที่ต้องมีขนาดที่แน่นอนจะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ เช่นถ้าวางรูปเล็ก 2x2 นิ้วบนไฟล์ภาพ 4x6 นิ้วแล้วนำไปพิมพ์แบบ borderless เมื่อวัดขนาดรูปเล็ก 2x2 นิ้วที่อยู่บนภาพพิมพ์กระดาษ 4x6 นิ้วแล้วจะได้ขนาดใหญ่กว่า 2x2 นิ้วเล็กน้อย

การพิมพ์แบบมีตัดตก

การพิมพ์แบบมีระยะตัดตก (full bleed printing) ไม่เหมือนกับเทคนิคการพิมพ์ที่ผ่านมาตรงที่การพิมพ์แบบนี้จะพิมพ์ก่อนแล้วค่อยตัด. การพิมพ์ไร้ขอบของอิงค์เจ็ต, กระดาษที่จะพิมพ์ถูกตัดตามขนาดที่ต้องการมาก่อนแล้วจึงค่อยนำมาพิมพ์.

การพิมพ์แบบ full bleed printing มีลักษณะที่แตกต่างคือ
  • ไม่มีการขยายรูปหรือกราฟฟิค แต่ต้องมีการเตรียมอาร์ตเวิร์คส่วนเกิน (bleed) ออกไปจากขนาดที่ต้องการ ส่วนเกินนี้จะถูกตัดทิ้งในขั้นตอนสุดท้าย
  •  งานพิมพ์จะพิมพ์บนกระดาษที่ใหญ่กว่ากระดาษจริงที่ต้องการ มีสิ่งที่เรียกว่า output size และ finishing size. เช่น ถ้าต้องการงานพิมพ์แบบ full bleed เป็นกระดาษ A4 (210x297mm) ก็จะต้องพิมพ์งานบนกระดาษที่ใหญ่กว่า A4 เช่น A3 ก็จะถือว่าเป็น output size. พิมพ์เสร็จแล้วค่อยตัดให้ได้ขนาด A4 ซึ่งเป็น finishing size ที่ต้องการ.
  • มีขั้นตอนการตัดหลังการพิมพ์ ดังนั้นงานพิมพ์ที่ออกมาจะต้องมีการทำตำแหน่งตัดคือ trim mark ประกอบในงานพิมพ์ด้วย. การทำ trim mark อาจจะทำมาโดยคนออกแบบ (designer) ก็ได้แต่ไม่ควรทำ. เพราะคนที่จะใช้ trim mark จริงๆแล้วคือช่างตัด และการใส่มาร์กจะไปเกี่ยวเนื่องกับขนาดกระดาษพิมพ์ (output size) ด้วย.
    ดังนั้นการใส่ trim mark ควรจะเป็นหน้าที่ของคนเตรียมพิมพ์ (prepress) จึงจะเหมาะสมกว่า. จึงเป็นเหตุผลที่ว่าคนออกแบบควรจะเตรียมไฟล์​ PDF ที่มี trim box, bleed box, crop box ที่ถูกต้อง. ถ้า PDF นั้นเตรียมมาถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ trim mark มาร์กมาเพราะสามารถรู้ได้เองจากไฟล์ PDF. 

การพิมพ์แบบ full bleed แล้วตัดตก

แหล่งอ้างอิง